การละเล่นผีขนน้ำ บุญเดือนหกบ้านนาซ่าว

Logo

กล่าวคือ ชาวบ้านนาซ่าวแต่เดิม เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน โดยอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์คือ “นาซำหว้า” ซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลังแหล่งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พอชุมชนขยายมากขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนหมู่บ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้นประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่แรกคือ พิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” โดยกำหนดเอาวันเสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนาโดยมี “จ้ำ(ผู้ประกอบพิธีกรรม)” เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับเจ้าปู่จิรมาณพ และเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่าน บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) ซึ่งจะทำพิธีเข้าทรงกำหนดวันที่จะเลี้ยงบ้านขึ้น  จากนั้นจ้ำจะไปประกาศบอกชาวบ้าน โดยการตะโกนตามสี่แยกหรือที่ชุมชนหนาแน่น ไม่ก็ใช้วิธีขึ้นไปบอกตามบ้านทุกหลังคาเรือนภายในหมู่บ้านว่า ในปีนี้จะกำหนดจัดพิธีการเลี้ยงบ้านแล้ว ให้ชาวบ้านจัดหาข้าวปลาอาหาร และของบวงสรวงต่างๆ ไปประกอบพิธีกันที่ดอนหอ “ศาลเจ้าปู่” ของหมู่บ้าน เดิมการบวงสรวงนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเลี้ยงผีบ้าน ก็จะมีการฉลองด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางเทียมร่างทรงคนอื่นๆ นางแต่ง จ้ำและผู้มาร่วมพิธีอย่างสนุกสนาน พิธีเลี้ยงบ้านนี้จะทำกันทุกปี แค่ปีละครั้งเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ที่ผีปู่ผีย่า ตลอดจนผีบรรพบุรุษในหมู่บ้าน ได้ปกปักรักษา คุ้มครองตนและชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขทำมาหากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ล่ากันว่า “การบวงสรวงสัตว์เลี้ยงภายในบริเวณศาล สัตว์ที่นำไปผูกหลักเลี้ยงจะตายเองโดยไม่มีการฆ่า ขณะที่ประกอบพิธีอัญเชิญผีเจ้าปู่ และผีบรรพบุรุษต่างๆ ให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว เพียงแต่นำเครื่องเซ่นพวกข้าวปลาอาหาร และสิ่งของอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นมาประกอบพิธี” 

  การบวงสรวงนั้น จะมีการนำวัว ควาย มาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่า ให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” เพื่อเป็นการบูชาวัว ควาย ที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย

     นอกเหนือจากการบูชาเพื่อรำลึกคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า “ผีขน” คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง รอบๆ หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองจะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขน และได้ยินแต่เสียงกระดึง แต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” ยุคแรกๆ จะพากันเรียกว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขน ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนน้ำ” มาถึงปัจจุบัน



คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar